Menu Close

ความเป็นมาของโครงการ

จังหวัดบึงกาฬเป็นจังหวัดชายแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นจังหวัดที่ 76 ของประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่อกับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) มีแม่น้ำโขงกั้นกลางเพื่อแบ่งเขตแดน ความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร อยู่ตรงข้ามแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว จังหวัดบึงกาฬเป็นจังหวัดใหม่ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติประวัติศาสตร์ โบราณคดีและวิถีชีวิตของประชาชนที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ยอดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้นทุกปี จากสถิติการท่องเที่ยวของจังหวัดบึงกาฬ พบว่า ในช่วงปี 2554 – 2561 มีจำนวนผู้มาเยี่ยมเยือนเพิ่มขึ้น

เมื่อพิจารณาภาวะการค้าชายแดน (Border Trade) พบว่า จังหวัดบึงกาฬ มีพื้นที่ติดกับ แขวงบอลิคำไช สปป.ลาว มีจุดผ่านด่านถาวรจำนวน 1 จุด คือ ด่านศุลกากรบึงกาฬ และจุดผ่อนปรน จำนวน 2 จุด ได้แก่ บ้านห้วยคาด อำเภอเมืองบึงกาฬ และบ้านบ่งคล้า อำเภอบ่งคล้า และมีแผนดำเนินการก่อสร้างสะพานแห่งที่ 5 บึงกาฬ – บอลิคำไช เพื่อส่งสินค้าไปยัง สปป.ลาว เวียดนาม และจีน เป็นการส่งเสริมด้านการค้าชายแดนและการท่องเที่ยว โดยจังหวัดบึงกาฬเป็นพื้นที่ส่งเสริม East West Development Corridor ให้มีความเข้มแข็ง เนื่องจากจังหวัดบึงกาฬอยู่ตรงข้ามแขวงบอลิคำไซ ซึ่งเป็นประตูสู่ลาวใต้ และยังเป็นแขวงที่มีความสำคัญด้านการท่องเที่ยว อีกแห่งหนึ่งของ สปป.ลาว เพราะเป็นเมืองท่าด่านติดชายแดน ส่วนทางด้านทิศตะวันออกบริเวณด่านแก้วเหนือ จะติดด่านกอเตรียมของประเทศเวียดนาม ซึ่งมีเส้นทางการคมนาคมที่สะดวกสามารถเชื่อมโยงกับจังหวัดบึงกาฬ เป็นเครือข่ายแนวตะวันออก – ตะวันตกที่จะสามารถเชื่อมโยงไปยังเมืองดานังของประเทศเวียดนาม อีกทั้งยังเป็นเส้นทางการค้าและการท่องเที่ยวไปยังเมืองวินห์ ของประเทศเวียดนามโดยใช้เส้นทางหมายเลข 13 ของ สปป.ลาว และหมายเลข 8 ของเวียดนาม ซึ่งสามารถเชื่อมไปยังจีนตอนใต้ได้อีกด้วย

โดยการค้าชายแดนระหว่างจังหวัดบึงกาฬกับแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว จะเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนและสร้างระบบเศรษฐกิจของจังหวัดให้ทัดเทียมกับจังหวัดอื่นๆ ที่มีชายแดนติดกับ สปป.ลาว ซึ่งด่านศุลกากรบึงกาฬได้ปฏิบัติตามนโยบายกรมศุลกากรที่มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกด้านการค้าชายแดนระหว่างประเทศและพร้อมที่จะสนองแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดด้านการค้าการลงทุนของนักธุรกิจในพื้นที่ โดยการเร่งพัฒนาด้านการค้าชายแดนระหว่างแขวงบอลิคำไช – จังหวัดบึงกาฬ เพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ผลิต รวมทั้งผู้ประกอบการนำเข้า – ส่งออกผู้ขนส่งระหว่างประเทศเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นโครงการเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมจากตะวันตกสู่ตะวันออก (East-West Corridor) ในอนาคต หากนานาประเทศพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อถึงกันตามนโยบายการเปิดประชาคมอาเซียน ท่าอากาศยานบึงกาฬ จะเป็นทางเชื่อมเข้า – ออกไปสู่เพื่อนบ้านในอาเซียนได้เป็นอย่างดี ซึ่งคาดว่าจะมีการเดินทางและการขนส่งสินค้าผ่านแดนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีเม็ดเงินทั้งด้านการท่องเที่ยว ด้านการค้าและการลงทุนเข้าสู่พื้นที่และกระจายไปสู่ภาคประชาชนอย่างทั่วถึง โดยจังหวัดบึงกาฬมีท่าอากาศยานที่อยู่ใกล้เคียง ดังนี้ 1. ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีท่าอากาศยานอุดรธานี ระยะทางประมาณ 194 กิโลเมตร จากข้อมูลสถิติจำนวนผู้ใช้บริการและสถิติเที่ยวบินของท่าอากาศยานอุดรธานี ในปี 2560 จำนวนเที่ยวบินรวม 17,901 เที่ยวบิน มีจำนวนผู้โดยสาร 2,577,524 คน 2. ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีท่าอากาศยานนครพนม ระยะทางประมาณ 188 กิโลเมตร ในปี 2560 มีจำนวนเที่ยวบินรวม 2,798 เที่ยวบิน มีจำนวนผู้โดยสาร 419,311 คน และ 3. ท่าอากาศยานสกลนคร ระยะทางประมาณ 190 กิโลเมตร ในปี 2560 มีจำนวนเที่ยวบิน 2,910 เที่ยวบิน มีจำนวนผู้โดยสาร 378,057 คน จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง อยู่ห่างจากจังหวัดบึงกาฬ ประมาณ 180 – 200 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาเดินทางเพื่อใช้บริการท่าอากาศยาน ไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง

กรมท่าอากาศยาน เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาโครงข่ายและส่งเสริมกิจการท่าอากาศยาน โดยมีอำนาจหน้าที่ในการวิเคราะห์ความจำเป็นและความเป็นไปได้ในการมีท่าอากาศยานแห่งใหม่ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ดังนั้นกรมท่าอากาศยาน ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจการพัฒนาท่าอากาศยานบึงกาฬโดยกำหนดข้อมูลความเหมาะสมที่สำคัญ ได้แก่ ความเหมาะด้านเศรษฐกิจ ด้านวิศวกรรม และด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ มีความยาวทางวิ่ง 2,500 เมตร เป็นโครงการระบบขนส่งทางอากาศ ซึ่งตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ได้ระบุไว้ในลำดับที่ 26 ของเอกสารท้ายประกาศ 4 ว่า โครงการระบบขนส่งทางอากาศ เฉพาะการก่อสร้างหรือขยายสนามบิน หรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยานตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ ที่มีความยาวของทางวิ่งตั้งแต่ 1,100 เมตรขึ้นไป แต่ไม่ถึง 3,000 เมตร เป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ให้ความเห็น ก่อนที่จะเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป